พลังศรัทธา!! พุทธศาสนิกชนร่วมประกอบพิธียกยอดน้ำค้างทองคำ บนยอดพระธาตุพนม

พิธียกยอดน้ำค้างทองคำ พระธาตุพนม

พลังศรัทธาพุทธศาสนิกชนแน่นลานวัด ร่วมประกอบพิธียกยอดน้ำค้างทองคำประดิษฐานบนยอดพระธาตุพนม บูรณะในรอบ 40 ปี – นครพนม

วันที่ 7 กันยายน 2562 ที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม บรรยากาศเนื่องแน่นไปด้วยพุทธศาสนิกชน ทั้งชาวไทย ชาวลาว ตลอดจนนักท่องเที่ยว ที่ศรัทธาต่อองค์พระราตุพนมและทราบข่าวว่าจะมีการประกอบพิธียกยอดน้ำค้างทองคำ กระดิ่งทองคำ และบัวทองคำ ขึ้นประดิษฐานบนยอดองค์พระธาตุพนม ต่างก็ได้เดินทางมาร่วมพิธีกันอย่างเนื่องแน่น โดยหลายคนเลือกที่จะมาตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน ซึ่งมีพิธีบวชชีพราหมณ์ พิธีบวงสรวงเทพยดา และพิธีพุทธาภิเษกสมโภช ก่อนที่ช่วงเช้าของวันที่ 7 กันยายนทุกคนจะได้ร่วมกันทำบุญตักบาตรบริเวณรอบพระธาตุพนม จากนั้นร่วมชมขบวนแห่ยอดน้ำค้างทองคำอันยิ่งใหญ่และงดงาม จากบริเวณประตูอร่ามรัชฎาสู่มณฑลพิธี

โดยในเวลา 09:09 น. พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี ได้เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ประกอบพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย จากนั้นได้ร่วมกันอาราธนาศีล พระครูโสภณธรรมสโรช (ก้องเกียรติ จิตตวิโล) นำกล่าวถวายยอดน้ำค้างทองคำ กระดิ่งทองคำ และบัวทองคำ จากนั้นประธานฝ่ายฆราวาส จุดธูปเทียนบูชาเทพยดาที่แท่นบวงสรวง พราหมณ์ในพิธีนำประกอบพิธีบวงสรวงเทพยดา พระเทพวรมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนม เจ้าอาวาสวัดธาตุพนมวรมหาวิหาร ประธานฝ่ายสงฆ์ นำประกอบพิธีอัญเชิญยอดน้ำค้างทองคำและบริวารสู่แท่นยก แล้วคล้องพวงมาลัยมงคลบนยอดน้ำค้างทองคำ และประกอบพิธียกยอดน้ำค้างทองคำ

สำหรับการบูรณะในครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ตั้งแต่องค์พระธาตุพนมองค์เดิมได้พังทลายลงทั้งองค์ และรัฐบาลในสมัยนั้นที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ก่อสร้างใหม่ด้วยพลังแห่งศรัทธาของชาวพุทธทั่วประเทศร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์ โดยสร้างครอบองค์เดิมและยังคงรักษารูปแบบเดิมเอาไว้จนแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. 2522 ซึ่งมีขนาดฐานกว้างด้านละ 12.33 เมตร มีความสูงถึงยอดฉัตร รวม 57 เมตร และในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินในการพระราชพิธีเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระอุรังคธาตุ) ขึ้นบรรจุในองค์พระธาตุพนม สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เสด็จทรงยกยอดฉัตรทองคำ ที่มีน้ำหนักมากถึง 110 กิโลกรัม

จากนั้นพระธาตุพนมก็ตั้งเด่นเป็นสง่าให้พุทธศาสนิกชนได้เดินทางมากราบไหว้ บูชา ด้วยความเคารพศรัทธาเช่นดังเดิม กระทั่งวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 ทางวัดได้ทำหนังสือถึงสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี ขออนุญาตหุ้มแผ่นทองคำที่ยอดเม็ดน้ำค้างขององค์พระธาตุพนมด้วยทองคำบริสุทธิ์ เพื่อป้องกันกรดที่เกิดจากสิ่งปฏิกูล เนื่องจากปัจจุบันยอดเม็ดน้ำค้างมีนกเกาะและได้ทำรังนอน ถ่ายรดสิ่งปฏิกูล ทำให้ส่วนยอดเม็ดน้ำค้างดำและด่าง รวมทั้งจะมีการทำความสะอาดภายนอกองค์พระธาตุพนม ทาสีใหม่ และปิดทองคำเปลว และวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ได้มีหนังสือแจ้งพิจารณา โดยอธิบดีกรมศิลปากรได้อนุญาตในส่วนของงานทาสีและปิดทองคำเปลวใหม่ทั้งองค์ ในส่วนที่ปิดทองคำเปลว ส่วนการหุ้มแผ่นทองคำ ที่ยอดเม็ดน้ำค้างองค์พระธาตุพนมทดแทนของเดิมที่เป็นทองแดงนั้นให้วัดพระธาตุพนมจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม

ในส่วนของการจัดทำเม็ดน้ำค้างทองคำและการติดตั้งกับส่วนยอดขององค์พระธาตุพนมให้มีความชัดเจนก่อนการดำเนินการ โดยให้ประสานกับผู้เชี่ยวชาญจากสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เพื่อแนะนำแนวทางที่ถูกต้อง จากนั้นทางวัดพระธาตุพนม จึงได้ดำเนินการตามหนังสือกระทั้งแล้วเสร็จ และในวันนี้จึงได้มีพิธียกยอดน้ำค้างทองคำประดิษฐานบนยอดพระธาตุพนม โดยยอดน้ำค้างทองคำมีน้ำหนัก 3 กิโลกรัม กระดิ่งทองคำ มีจำนวน 32 ใบ ซึ่งจะช่วยไล่นกไม่ให้มาทำรังที่ยอดองค์พระธาตุ และแผ่นทองเปลวที่ใช้ปิดพระะธาตุพนมในครั้งนี้มีขนาดหนา 8 มิลลิเมต

ที่มาของข่าว

แฟนเพจ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครพนม https://www.facebook.com/prdnakhonphanom2555/