Site icon NKP Link

สวยอันตราย!! “ปรากฎการณ์น้ำหิว” แม่น้ำโขงเปลี่ยนสี กระทบเส้นเขตแดน ไทย – ลาว

จากปรากฎการณ์แม่น้ำโขงเปลี่ยนสีเป็นสีคราม คล้ายน้ำทะเล ผู้เชี่ยวชาญระบุ เป็นสัญญาณของ “ปรากฎการณ์น้ำหิว” (hungry water effect) กัดกร่อนตะกอน เสี่ยงทำตลิ่งพัง กระทบเส้นเขตแดน ไทย – ลาว ชี้เป็นอีกผลกระทบจากเขื่อนจีนที่ปล่อยน้ำใสปราศจากตะกอน ให้เรือสินค้าเดินเรือช่วงหน้าแล้ง

ภายหลังประชาชนและนักท่องเที่ยวในจังหวัดริมแม่น้ำโขงต่างพากันแชร์รูปแม่น้ำโขงเปลี่ยนสีเป็นสีครามน้ำทะเล แปลกตาไปจากภาพคุ้นของแม่น้ำโขงสีขุ่นปูน นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศน้ำจืด ให้ข้อมูลว่า ปรากฎการณ์แม่น้ำโขงเปลี่ยนสี เป็นสีครามดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าน้ำในแม่น้ำโขงขณะนี้เป็นน้ำใสปราศจากตะกอน ส่งสัญญาณอันตรายถึงปรากฎการณ์น้ำหิว หรือการที่น้ำที่ปราศจากตะกอนจะกัดเซาะพาเอาตะกอนออกจากตลิ่งและท้องน้ำเพื่อคืนสมดุลตะกอน ซึ่งจะนำไปสู่การพังทลายของตลิ่งตลอดลำน้ำโขงในที่สุด

โดยภาพแม่น้ำโขงที่ถ่ายในหลายพื้นที่ ทั้งที่ สปป.ลาว และ หลายจังหวัดที่ติดแม่น้ำโขง โดยที่ นครพนม น้ำห่างฝั่งใสปิ๋งเป็นสีฟ้ายังกับน้ำทะเล ส่วนน้ำใกล้ฝั่งจะเห็นว่าขุ่นกว่าอย่างชัดเจน อันนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “น้ำหิว” คือน้ำที่ถูกกักมาหลังเขื่อนและไหลช้าในฤดูนี้ตะกอนจะตกอยู่ในอ่างเก็บน้ำท้ายเขื่อนหมด

น้ำที่ปล่อยออกมาจะเป็นน้ำใสที่ไม่มีตะกอน น้ำพวกนี้หิวตะกอน ผ่านตลิ่งผ่านท้องน้ำตรงไหนก็ดึงเอาตลิ่งตรงนั้นออกมา เกิดการกักเซาะตลิ่งและพื้นท้องน้ำมากกว่าปกติ อย่าลืมว่าตลิ่งริมน้ำโขงพังนี่สูญเสียดินแดนนะครับ เกิดขึ้นแล้วทุกอย่างตามทฤษฏี เห็นน้ำขุ่นๆตรงชายตลิ่งแล้วเหมือนเห็นแผ่นดินไทยกำลังเลือดไหล นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศน้ำจืด กล่าว

อนึ่ง ตามสนธิสัญญาปักปันเขตแดนระหว่างไทยและฝรั่งเศส เขตแดนของไทยในแม่น้ำโขงจะสิ้นสุดที่ตลิ่งฝั่งไทยเท่านั้น มิได้วางอยู่ที่ร่องน้ำลึกในแม่น้ำ ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนแปลงของตลิ่งริมฝั่งแม่น้ำโขง ย่อมส่งผลกระทบต่อแนวเขตแดนของไทยเช่นกัน

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน จิรศักดิ์ อินทะยศ ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ ให้ข้อมูลว่า แม่น้ำโขงช่วงเขต อ.เชียงของ จ.เชียงราย เริ่มเปลี่ยนสี โดยมีลักษณะใสขึ้นอย่างผิดสังเกตตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า น้ำที่เปลี่ยนสีไป สอดคล้องกับระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ยกตัวสูงขึ้นเป็นระยะ แม้ในขณะนี้จะเข้าสู่ฤดูแล้งที่ระดับน้ำแม่น้ำโขงควรลดลงแล้วก็ตาม

“จากสภาพการณ์ดังกล่าวชี้ชัดเจนว่าสภาพน้ำแม่น้ำโขงที่ใสผิดปกติ เป็นน้ำที่เพิ่งปล่อยออกมาจากเขื่อนในประเทศจีน เพื่อยกระดับน้ำในแม่น้ำโขง ให้เรือสินค้าจีนสามารถเดินเรือค้าขายในแม่น้ำโขงได้ในช่วงฤดูแล้ง” จิรศักดิ์ กล่าว

แม้ว่าเขากล่าวว่า ในฤดูกาลนี้แม่น้ำโขงจะเริ่มใสขึ้นแล้ว หลังจากช่วงน้ำหลากที่แม่น้ำจะขุ่นตม หากแต่แม่น้ำโขงเวลานี้กลับใสกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้มีการพัดพาเอาตะกอนริมตลิ่งไปกับน้ำด้วย นอกจากนี้ผลพวงจากการลดระดับของแม่น้ำโขงอย่างเป็นประวัติการณ์ในช่วงหน้าฝนที่ผ่านมา ทำให้ตลิ่งขาดตะกอนที่ปกติจะถูกพัดพามากับน้ำหลากในช่วงหน้าฝน อีกทั้งความแปรปรวนของระดับน้ำ ยังให้พืชริมตลิ่งเช่นต้นไคร้ ซึ่งทำหน้าที่ยึดเกาะตลิ่งตายเป็นจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้น จากรายงานการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของตะกอนแม่น้ำโขงจากการคาดการณ์ผลกระทบของเขื่อนในแม่น้ำโขง โดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ยังระบุว่า หากมีการก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าเต็มรูปแบบตามที่ได้วางแผนไว้ในลุ่มน้ำโขง จะก่อให้เกิดการลดลงของการพัดพาตะกอนในแม่น้ำอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ในเขตประเทศเวียดนาม

โดยผลการศึกษาดังกล่าวคาดการณ์ว่า ภายในปีพ.ศ. 2563 ตะกอนแม่น้ำโขงจะหายไปจากระดับปกติราว 67% และหากสถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง ตัวเลขการหายไปของตะกอนจะทะยานขึ้นถึง 97% ภายในปีพ.ศ.2583

รายงานเตือนว่า การสูญเสียตะกอนปริมาณมหาศาลจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำ ธรณีสัณฐานริมตลิ่งตลอดทั้งลำน้ำ และความอยู่รอดของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เพราะตะกอนแม่น้ำที่จะคอยเติมผืนดินให้กับแผ่นดินเกิดใหม่ที่ปากแม่น้ำจะถูกกักไว้ในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน ทำให้ปากแม่น้ำถูกคลื่นทะเล และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นกัดเซาะ จนจมหายภายใต้เกลียวคลื่นในที่สุด.

ข้อมูลทั้งหมดจาก https://greennews.agency/?p=19806
ภัทรวินทร์ ลีปาน
หนองคาย

Exit mobile version