เกษตรนครพนม นำเจ้าหน้าที่ดูงาน ทำเกษตรผสมผสาน แบบเศรษฐกิจพอเพียง อ.วังยาง

เกษตรนครพนม

เกษตรนครพนม แลกเปลี่ยนประสบการณ์ นำเจ้าหน้าที่ดูงาน “ทำเกษตรผสมผสาน แบบเศรษฐกิจพอเพียง” ที่อำเภอวังยาง พร้อมเรียนรู้การทำแผนพัฒนาภาคการเกษตรในพื้นที่

วันพุธที่ 26 สิงหาคม 2563 เวลา 09.30 น. ที่บริเวณศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอวังยาง บ้านยอดชาด ตำบลยอดชาด อำเภอวังยาง จังหวัดนครพนม โดยนายราชันย์ ไชยศิลป์ รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดนครพนม เป็นประธานเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับอำเภอ (DW) เพื่อขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ครั้งที่ 3 พร้อมร่วมกันวิเคราะห์แนวทางในการขับเคลื่อนการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ โดยมีนายวิชาญ ซาตัน เกษตรอำเภอวังยาง กล่าวต้อนรับ ซึ่งมีเกษตรอำเภอพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอ จำนวน 6 อำเภอ (สายใต้) เข้าร่วมการจัดเวทีฯ ในครั้งนี้

นายราชันย์ ไชยศิลป์ รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า สำหรับการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับอำเภอ (DW) เพื่อขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เป็นอีกเวทีหนึ่งที่จะช่วยสร้างเสริมสัมพันธภาพทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล ของเจ้าหน้าที่ภายในองค์กรเพื่อการปฏิบัติงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานร่วมกัน โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกๆ คน และยังคงให้ความสำคัญในการดำเนินงานตามนโยบาย (Agenda) กับภารกิจหลักของหน่วยงาน (Function) กรมส่งเสริมการเกษตร ภายใต้การขับเคลื่อนตามระบบส่งเสริมการเกษตร (Training and Visit System : T & V System) คือการเยี่ยมเยียนเกษตรกร ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เกษตรกรมีความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ยังได้มีการศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างเจ้าหน้าที่และเกษตรกร ที่ทำการเกษตรแบบผสมผสานในรูปแบบของเศรษฐกิฐพอเพียงในครัวเรือน สร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคง ถือเป็นต้นแบบของการทำการเกษตรแบบพึ่งพาตนเองให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้นำไปปรับใช้ โดยมีกิจกรรมที่ให้เจ้าหน้าที่ได้เรียนรู้มากมาย ได้แก่

  1. การเลี้ยงหนูนา
  2. การเลี้ยงกบ และปลาเบญจพรรณ
  3. การปลูกไม้ผล
  4. ปศุสัตว์
  5. การปลูกพืชอินทรีย์

ซึ่งแต่ละจุดได้มีการอธิบายและให้ข้อมูล รวมทั้งการตอบซักถามของเจ้าหน้าที่ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน หลังจากการดูงานแล้วจะมีการสรุปและวิเคราะห์องค์ความรู้ร่วมกัน ถึงปัญหาแนวทางการแก้ปัญหา และการพัฒนากิจกรรมให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น อีกทั้งนอกจากการศึกษาดูงานในพื้นที่จริงแล้ว ยังมีการถ่ายทอดความรู้การจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรให้กับนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรที่เข้าร่วม รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อสรุปและทราบถึงปัญหาและแนวทางการพัฒนาภาคการเกษตรในพื้นที่อำเภอวังยางต่อไปในอนาคต