Site icon NKP Link

วัดโอกาส (ศรีบัวบาน) วัดเก่าแก่คู่เมืองนครพนม ประดิษฐานพระติ้ว พระเทียม

วัดโอกาส (ศรีบัวบาน) อีกหนึ่งวัดริมโขงของชาว นครพนม บ้านเฮา ใครที่มาเที่ยวริมโขงเมืองนครต้องได้มาไหว้สักการะ อยู่ติดกับตลาดอินโดจีน

วัดโอกาส หรือ วัดโอกาสศรีบัวบาน เป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองนครพนมและเป็นที่ประดิษฐานพระติ้วและพระเทียมพระพุทธรูปแฝดอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวนครพนมมาแต่โบราณ นอก จากนี้ภายในโบสถ์ยังมีภาพจิตรกรรมที่สวยงามน่าชมด้วย

สิ่งน่าสนใจภายในวัด ได้แก่พระติ้วและพระเทียม เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสององค์ที่มีพุทธลักษณะเหมือนกันทุกประการ แกะสลักจากไม้ตะเคียน ขนาดหน้าตักกว้าง 39 ซม. สูง 60 ซม. ประดิษฐานในบุษบกทรงปราสาทที่ตั้งอยู่ด้านหน้าพระประธานในโบสถ์ พระเทียมอยู่ทางขวามือของพระประธาน ส่วนพระติ้วอยู่ทางซ้ายพระติ้วและพระเทียมมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ

กล่าวกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีมาแต่ครั้งอาณาจักรศรีโคตรบูรกำลังรุ่งเรืองในสมัยพระเจ้าศรีโคตรบูรหลวง พระองค์ทรงให้ขุดเรือโกลนเพื่อใช้เป็นเรือพระที่นั่ง เมื่อขุดเรือสำเร็จแล้ว จึงเคลื่อนเรือ ลงสู่แม่น้ำโขง โดยใช้เครื่องทุ่นแรงที่เป็นไม้หมอนกลมเล็กจำนวนหลายท่อนวางเป็นแนวใต้ท้องเรือ เพื่อช่วยชักลากเรือให้เคลื่อนไปสะดวกยิ่งขึ้น แต่ขณะเรือเคลื่อนมาถึงไม้หมอนท่อนหนึ่งซึ่งเป็นไม้ติ้วก็ไม่สามารถเคลื่อนต่อไปได้ ทั้งไม้หมอนนั้นก็กระเด็นออกไป การชักลากเรือต้องใช้ความพยายามอยู่นานจึงนำเรือลงสู่แม่น้ำได้สำเร็จ

เชื่อกันว่า หมอนไม้ติ้วนั้นเป็นพญาไม้ซึ่งมีเทวดาสิงสถิตอยู่ พระเจ้าศรีโคตรบูรหลวงจึงโปรดให้นำไปแกะสลักเป็นพระติ้ว เมื่อวันอังคาร เดือน 7 แรม 8 ค่ำ ปีกุน ตรงกับ พ.ศ. 1327 แล้วจัดพิธีสมโภชเป็นพระมิ่งเมืองนครศรีโคตรบูรต่อมาในสมัยพระเจ้าขัติยวงศาบุตรามหาราชกษัตริย์องค์ต่อมา ได้เกิดไฟไหม้ในหอพระติ้ว ชาวบ้านไม่สามารถนำพระติ้วออกมาได้ จึงคิดกันว่าพระติ้วคงจะไหม้ไปในกองเพลิง พระเจ้าขัติยวงศาฯ จึงโปรดให้นำไม้มงคลมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปขึ้นแทนพระติ้ว พระพุทธรูปองค์ใหม่นี้เหมือนพระติ้วองค์เดิมไม่ผิด เพี้ยน ในเวลาต่อมาได้พบพระติ้วองค์เดิมในลำน้ำโขง พระเจ้าขัติยวงศาฯ จึงทรงอัญเชิญมาประดิษฐานคู่กับพระติ้วองค์ใหม่ซึ่งมีพระนามใหม่ว่าพระเทียมนับแต่นั้นมา

และภาพจิตรกรรม ภายในโบสถ์มีจิตรกรรมฝาผนังอันงดงาม เช่น ที่ผนังแต่ละด้านเขียนเรื่องราวในชาดกตอนต่าง ๆ ที่ไม้คอสองซึ่งเป็นแผ่นกระดานเชื่อมหัวเสาแต่ละต้นเขียนเป็นรูปเทพและเทวดาในซุ้มเรือนแก้ว ที่เพดานเขียนเป็นดวงดาวสีทองบนพื้นแดง ส่วนเสาแต่ละต้นเขียนลายกระจังสีสันสดใส

Exit mobile version